วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครูแห่งชาติ

วันครูแห่งชาติ 
วันครูปีนี้ตรงกับวันพุธ ที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2556
 
วันครูแห่งชาติ

วันครู 16 มกราคมของทุกปี

ประวัติความเป็นมาของวันครู

     มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
 
     ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญ คุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของ คุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
 
     “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมี บุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
 
     จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่ แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็น ควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครู กับประชาชน
 
     ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดย เอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดัง กล่าวได้
 
วันครูทางพระพุทธศาสนา คือวันอะไร

     ถ้าเราถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นเป็นบรมครูของเรา วันที่เนื่องด้วยพระองค์ก็คือวันวิสาขะบูชา ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จะถือวันนี้ก็คงจะได้ เราไม่ได้มีการกำหนดตายตัวหรอก แต่ถือวันนี้ก็ได้เหมือนกัน หรือว่าบางท่านอาจจะถือว่าพระธรรมเป็นใหญ่ ก็อาจจะถือวันที่พระองค์แสดงธรรมครั้งแรก ก็คือวันอาสาฬหะบูชาก็ได้ ที่พระองค์แสดงปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัฒนสูตรให้กับปัญจวัคคี ก็ได้เหมือนกัน
 
การบูชาพระคุณของครู ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีการอย่างไร

     สุดยอดของการบูชาคือการปฏิบัติบูชา ทำตามสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สอนเอาไว้ หลักก็คือสำหรับพวกเราที่ครองเรือนอยู่ วิถีชีวิตชาวพุทธก็คือ ให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ตั้งใจเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา

 
การบูชาพระคุณของครู
ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีการอย่างไร
 

 
 
บทสวดเคารพครู

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

สวดทำนองสรภัญญะ

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์
          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
          (กราบ)
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีวิธีการสั่งสอนอย่างไร

       โดยรวมก็คือว่า แนะให้รู้แล้วก็ทำให้ดูอย่างนั้นแหละ ชี้แจงสอนแล้วก็วิถีชีวิตพระองค์เองก็เป็นมาตรฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติของเหล่าสาวกทั้งปวง นั่นเป็นอย่างนั้น ก็วิธีการสอนของพระองค์ก็มีหลายรูปแบบ พระองค์จะต้องถือว่าเป็นผู้ที่มีศิลปะการสอนชั้นเลิศ จะสอนอะไรไม่ใช่เจอแล้วก็สอนเหมือนกันทุกคนไม่ใช่ แต่ว่าพระองค์ใช้การระลึกชาติไปดูก่อนว่า บุคคลผู้นี้ภพในอดีตเคยสั่งสมอะไรมาบ้าง พอพระองค์สอนผู้ฟังจะมีความรู้สึกว่า แบบ ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันคือโดนจริงๆเลย โดน ฟังแล้วนี่เข้าใจแล้วก็ซาบซึ้ง บอกเหมือนหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง จุดประทีปในที่มืด เปรียบเทียบอย่างนั้นเลย แล้วพระองค์จะมีศิลปะนะคือว่า ไม่ใช่ว่าเขาทำอะไรไม่ถูกอยู่ๆไปถึงบอก นี่คุณผิดนะอย่างงั้นๆ ไม่ใช่ แต่พระองค์ใช้วิธีการดัด ดัดให้เขาได้คิดขึ้นมา แต่ไม่ใช่ใช้วิธีการสวน

     ยกตัวอย่าง มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์ไปถึงเห็น สิงฆารกะมานพกำลังยืนไหว้ ไหว้ไปข้างหน้า ไหว้ไปข้างหลัง ไหว้ไปข้างซ้าย ไหว้ไปข้างขวา แล้วก็ไหว้ไปบนฟ้า แล้วก้มไหว้ดินอีก ยืนไหว้อยู่อย่างนี้ ไหว้ไปไหว้มาสลับไปสลับมา เพราะก่อนพ่อแม่จะตายสั่งไว้ว่า ให้ไหว้ทิศทั้ง 6 ซ้ายขวาหน้าหลังบนล่าง ไหว้ทิศทั้ง 6 พระองค์ก็ยืนดู เพราะพระองค์ทราบแล้วที่มาที่ไป แล้วก็บอกสิงฆารกะมานพว่า เขาถามพระพุทธเจ้าว่าในพระพุทธศาสนามีไหว้ทิศไหม พุทธเจ้าบอกมี ทำให้เขาดีใจรู้สึกว่าเหมือนกัน รู้สึกว่าพวกเดียวกัน แต่พระองค์บอกว่าแต่การไหว้ทิศไม่ได้ไหว้อย่างนี้หรอก พอใจเขาเริ่มเปิดเพราะอยากรู้แล้ว แต่บอกว่าไม่ได้ไหว้อย่างนี้เขาก็อยากรู้ถามไหว้ยังไง พระองค์บอกนี่ไหว้อย่างนี้ ทิศเบื้องหน้าคือพ่อแม่ การไหว้คือ ให้ปฏิบัติตัวเราเองกับพ่อแม่ให้ถูกต้องตามหน้าที่ของลูก แล้วพระองค์ก็สอนว่ามีอะไรบ้าง 1,2,3,4,5 ทิศเบื้องหลังคือบุตรภรรยา เพราะเป็นหน้าที่ของเราเองที่มีต่อบุตรภรรยา ฝ่ายหญิงก็ต่อสามีเป็นต้น ทิศเบื้องขวาคือครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่างก็คือลูกน้องบริวาร ทิศเบื้องบนคือสมณะพราหมณ์ ผู้ทรงศีล หน้าที่ของเราเองที่ปฏิบัติต่อทิศทั้ง 6 นี้ทำอย่างถูกต้องนั่นคือการไหว้ทิศ ทิศ 6 สิงฆารกะมานพพอฟังแล้วใจ สว่างไสว ไหว้ทิศอย่างนี้สุดยอด เยี่ยม ก็ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา แล้วก็ตั้งใจศึกษาธรรมะจากพระพุทธเจ้า นี่เป็นอย่างนี้เห็นไหม นี่คือศิลปะในการสอนของพระองค์

      พระสัมมาสัมพุทะเจ้า ไปเจอคนเคารพพระพรหม พระองค์ก็ไม่ได้บอกว่าไปเคารพทำไม ไม่ถูกอย่างพระองค์บอกว่า เธออยากจะไหว้พรหมตัวจริงไหมล่ะ ให้ถูกหลัก อยากทำยังไงหรือพระยะค่ะ ให้ทำอย่างนี้นะ ให้ประพฤติพรหมวิหารธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหม คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่แหละทำ 4 ข้อนี้ตัวเองจะได้เป็นพรหมด้วยตั้งแต่เป็นพรหมเดินดินบนโลกเลย ละโลกไปแล้วมีสิทธิ์เป็นพรหมอยู่บนสวรรค์ชั้นอรูปภพ อรูปพรหม เป็นต้น

      พระองค์ยังมีศิลปะในการขยายแล้วก็ให้นัยยะที่ถูกต้อง ซึ่งมีความลุ่มลึกลึกซึ้งอย่างเรื่องทิศ 6 พระเจ้าอโศกมหาราชถึงขนาดทำจาลึกพระเจ้าอโศกแกะสลักในหิน แล้วก็ส่งไปปิดประกาศตั้งไว้ในดินแดนพระองค์ตลอดทั้งอินเดีย บอกว่าให้ผสกนิกรตั้งใจศึกษาทิศทั้ง 6 ที่พุทธเจ้าสอนไว้ให้ดี เพราะพระองค์เห็นว่าแค่ทิศ 6 หมวดธรรมเดียวก็ได้อะไรตั้งหลายอย่าง ถ้าเกิดประชากรของพระองค์ตั้งใจปฏิบัติตามทิศ 6 บ้านเมืองสงบร่มเย็นเจริญรุ่งเรืองแน่นอน ถึงขนาดจาลึกอโศกสั่งให้ศึกษาเลย
 
       มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์เสด็จไปในชนบท แล้วก็มีกสิภาระทวาชพราหมณ์ กำลังไถนาอยู่ เป็นชาวนาแต่ชาวนาแบบรวย ทำนากันขนานใหญ่ พอเจอพุทธเจ้าเขาก็รู้ว่าเป็นนักบวช บอกว่า พุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไถ และหว่านแล้วย่อมบริโภค พระองค์ล่ะ ก็ควรจะไถและหว่านแล้วบริโภคเช่นกัน ถ้าพูดภาษาปัจจุบันคือ อย่ามาขอนะฉันต้องทำงานถึงจะมีกินพูดง่ายๆ ไถและหว่าน แล้วบริโภค ถ้าพระองค์อยากจะบริโภคก็ต้องไถและหว่านต้องทำงานเหมือนกัน เรียกว่าเราเคยเจอคนประเภทนี้ ยุคปัจจุบัน มีชนิดที่ว่า พระไม่ทำงานเบียดเบียนสังคมหรือเปล่า ต้องทำงานสิถึงจะมีกิน อย่างนี้ พุทธเจ้าพระองค์ตอบว่าดูก่อนพราหมณ์ ตถาคต ไถและหว่านแล้วจึงบริโภค พราหมณ์ชักงงแล้วมองพุทธเจ้า ข้าพระองค์ไม่เห็นพระองค์มีไถอยู่ที่ไหนเลยเชือกก็ไม่เห็น ปฏักตระแบกอะไรต่างๆที่ไถ คันไถอะไรก็ไม่เห็นเลย แล้วพระองค์บอกว่าไถและหว่านยังไงไม่เข้าใจ เห็นเดินถือบาตรมาเท่านั้นเอง พระองค์ว่า

       ศรัทธาเป็นพืช เหมือนกับเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไป ความเพียรนี่จะเป็นฝนโปรยปรายให้ศรัทธานี้งอกงาม ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริคือความละอายต่อบาปนั้นจะเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาน ผานที่ตักดินขึ้นมานี่นะ และปฏักเรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า หญ้าในที่นี้ก็คือวาจาสัปปรับที่กลับไปกลับมาไม่จริง ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะ ของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากกิเลสทั้งปวงไม่ถอยหลัง นำไปยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

      กสิภาระทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนาขอพระองค์จงบริโภคอมตะผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด ยังแค่เชื่อท่านทำนาอย่างนั้นท่านก็บริโภคอย่างนั้นก็อมตะผลนี่นะพูดอย่างนั้น พุทธเจ้าบอกว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะซึ่งได้เพราะความขับกล่อมไม่ใช่มาพูดเพราะๆอย่างที่ นักบวชศาสนาอื่นมาแสดงดนตรีอะไรต่อมิอะไรต่างๆไม่ใช่ ดูก่อนพราหมณ์ นี่เป็นธรรมบุคคลที่เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไป (ก็คือการประกอบอาชีพนี้ก็ยังมีอยู่) ท่านจงบำรุงซึ่งพระขีณาสพ(ก็คือพระอรหันต์ทั้งสิ้น) ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนองระงับแล้วด้วยข้าวน้ำอันอื่น เพราะว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ คือปูมาแต่คนนั้นอาจจะมีทิฏฐิอยู่

        กสิภาระทวาชพราหมณ์ กราบทูลพุทธเจ้าบอกว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฝากคุณครูทั้งหลาย จะเป็นยอดครูละก็ ต้องศึกษาวิธีการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจะได้ข้อคิดทั้งวิธีการถ่ายทอด ทั้งเนื้อหาสาระที่พระองค์ให้ แล้วยิ่งศึกษาจะยิ่งมีความซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์

การไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน
 
 
การระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครู ในสมัยโบราณมีลักษณะอย่างไร

      สาระหลักของการไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน มอบกายถวายตัวให้กับท่าน ให้ท่านอบรมสั่งสอนมันเป็นอย่างนั้น แต่การแสดงออกก็จะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละที่กันไป อย่างเช่นในบางที่ก็ใช้วิธีการประกาศปฏิญาณตน บางที่ก็ใช้วิธีการว่าเอาข้าวตอกดอกมะเขือแล้วก็หญ้าแพรกต่างๆไปไหว้ครู เป็นต้น บ้างก็ใช้วิธีการแสดงออกโดยการประทักษิณ อย่างในพระพุทธศาสนาเรา การจะแสดงความเคารพ เราจะใช้การประทักษิณ เราคงได้ยินคำนี้ ประทักษิณอย่างเช่นว่าจะแสดงความเคารพพระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์ ก็ประทักษิณรอบโบสถ์ เวียนเทียนนั่นเอง ก็คือเดินแล้วก็ด้วยอาการสำรวมเช่นพนมมือหรือสวดมนต์ไปเป็นต้น แล้วให้ขวามือของเรา อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราแสดงความเคารพ เช่นจะเดินผ่านโบสถ์ก็ให้ขวามือเราเองอยู่ใกล้โบสถ์ แล้วก็เดินวนรอบ เรียกว่าเวียนประทักษิณ เจริญพร จะเป็นสถูปเจดีย์ต่างๆประทักษิณคือ เอาขวามือเราอยู่ใกล้สิ่งนั้นแล้วก็เดินรอบ 3 รอบโดยทั่วไป ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพได้เหมือนกัน สำคัญที่ใจ แต่การแสดงออกทางกาย วาจา ก็มีผลเพราะว่า มันจะสื่อเนื่องไปถึงใจด้วย
 

       สิ่งที่แสดงออกสูงที่สุดคือปฏิบัติบูชา การแสดงความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ ดีที่สุดคือปฏิบัติบูชา คือทำตามคำสอนของท่าน หน้าที่ของครูมี 2 อย่าง คือแนะให้รู้กับทำให้ดู แนะนำนั่นเองแหละ แนะคือสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นำก็คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติของครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 2 อย่างประกอบคือหน้าที่หลักของครู หน้าที่ของศิษย์เองก็จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์สอนอะไรไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา แต่ใส่ใจรับฟังศึกษาให้เข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัว เป็นตนของเราเอง จนซึมเข้าไปในใจของเราเป็นวิถีชีวิตของเราเอง อันนี้คือการปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุด ถือเป็นการบูชาอันสูงสุด
 
     ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่น เอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก   เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
 
พระบรมครู
 
     พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
 
1. ยุทธศาสตร์  วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์  วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์   วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์  วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์  วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์  วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์  วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์  วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์  วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์  วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์  วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์  วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์  วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์  วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์  วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์  วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรีหรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์   วิชาการประพันธ์
     พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้ จึง กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ และเทวดา  ทุกโอกาสและสถานที่ เราลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากัน

ทรงพร้อมที่จะสอน
ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ
ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย
ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้
ทรงสอนจากยากไปหาง่าย
ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ
ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น
ทรงสอนโดยวิธีซักถาม
ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ
ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ

      แหละนี่คือ หลักการสอนการปฏิบัติตนของพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี่ ที่เราทุกคนควรนำหลักไปปฏิบัติ เพื่อให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลกใบนี้
MV เพลง พระคุณของครู


 
เพลง มอบไว้ให้เธอ

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

วันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2556






 ประวัติความเป็นมา

         วันเด็กแห่งชาติ
มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
         ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

         สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


         อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

         ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว
งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
 วัตถุประสงค์การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

         สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

         นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า
"เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ"

 กิจกรรมวันเด็ก
         กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ  ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯ




 คำขวัญวันเด็ก

          คำขวัญวันเด็ก เป็น คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
happyคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ จากนายกรัฐมนตรีในปีต่าง ๆ

          ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็กจึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อ ๆ มา จึงได้ถือปฎิบัติสืบต่อมาดังต่อไปนี้


 พ.ศ.2499 - จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
 
 พ.ศ.2502 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

 พ.ศ.2503 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

 พ.ศ.2504 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

 พ.ศ.2505 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
 
 พ.ศ.2506 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
 
 พ.ศ.2507 - งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
 
 พ.ศ.2508 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
 
 พ.ศ.2509 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

 พ.ศ.2510 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย

 พ.ศ.2511 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง

 พ.ศ.2512 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

 พ.ศ.2513 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
 
 พ.ศ.2514 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

 พ.ศ.2515 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
 
 พ.ศ.2516 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

 พ.ศ.2517 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง

 พ.ศ.2518 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
 
 พ.ศ.2519 - หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้

 พ.ศ.2520 - นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
 
 พ.ศ.2521 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
 
 พ.ศ.2522 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
 
 พ.ศ.2523 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

 พ.ศ.2524 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
 
 พ.ศ.2525 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
 
 พ.ศ.2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
 
 พ.ศ.2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

 พ.ศ.2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

 พ.ศ.2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

 พ.ศ.2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
 
 พ.ศ.2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

 พ.ศ.2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

 พ.ศ.2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
 
 พ.ศ.2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

 พ.ศ.2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

 พ.ศ.2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
 
 พ.ศ.2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
 
 พ.ศ.2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
 
 พ.ศ.2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

 พ.ศ.2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

 พ.ศ.2541 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
 
 พ.ศ.2542 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

 พ.ศ.2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

 พ.ศ.2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

 พ.ศ.2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

 พ.ศ.2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

 พ.ศ.2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

 พ.ศ.2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

 พ.ศ.2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

 พ.ศ.2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

 พ.ศ.2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

 พ.ศ.2552 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

 พ.ศ.2553 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

 พ.ศ.2554 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ

พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

พ.ศ.2556 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน


          ทั้งนี้ สำหรับคำขวัญวันเด็ก ประจำปี 2556 นั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการจะสื่อสารให้เด็ก ๆ รู้จักรักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียนด้วย พร้อมกับบอกให้คนไทยทุกคนทราบว่า อยากเห็นรอยยิ้มของคนไทย